ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอ 6 แนวทางสำหรับผู้ใหญ่ และ 4 แนวทางสำหรับเด็กในการป้องกันอันตรายจากอินเตอร์เนตที่มีกับเด็ก ลดช่องว่างด้านเทคโนโลยี และสกัดกั้นความเสียหายต่ออนาคตของชาติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า ในประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวมประมาณ 4.5 ล้านคน โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน และแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย แต่ก็มีอันตรายไม่น้อยสำหรับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลายเป็นแหล่งการเกิดปัญหาการล่อลวงเด็กและก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวเด็ก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อล่อลวงเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการล่อลวงไปข่มขืน ทำอนาจาร หรือแม้แต่การลักพาตัวไป โดยเฉพาะการพูดคุยในห้องแชตรูมผ่านอินเทอร์เน็ต ที่นำไปสู่การนัดพบกันของคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน รวมทั้งเนื้อหาที่นำเสนอในหน้าเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกมีจำนวนไม่น้อยที่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เช่น เนื้อหาทางเพศ เนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง หรือการเสนอขายสินค้าที่ไม่เหมาะสมหรือส่งเสริมการใช้ความรุนแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหา ควรได้รับความร่วมมือด้วยกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครองควรสอดส่องดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนอย่างใกล้ชิด และให้คำแนะนำในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ปกครองก็คือ ความแตกต่างระหว่างความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งจัดว่าเป็น Digital Divide อีกประเภทหนึ่งที่ต้องพิจารณาและทำให้ผู้ปกครองต้องหันมากระตุ้นเตือนตนเองให้เร่งหันมาศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาวะความเสี่ยงจากภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนหรือลูกหลาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมแนวทางในการป้องกันปัญหาในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้กับกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มมเยาวชน ดังนี้ ในส่วนของผู้ปกครองทำได้คือ
1. ไม่ควรปล่อยให้เยาวชนหรือบุตรหลานเล่นอินเทอร์เน็ตตามลำพัง
2. กระตุ้นให้เด็กเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นในอินเทอร์เน็ตให้กับผู้ปกครองได้รับทราบ และให้ร้องขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาเมื่อพบกับปัญหา
3. ทำความเข้าใจกับเด็กเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันเด็กจากเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
4. แนะนำเด็กในการใช้อีเมล์ และให้ตรวจสอบหรือสอบถามเกี่ยวกับการส่งอีเมล์ที่ส่งมาให้เด็กอยู่เสมอ
5. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้แชตรูม หรือห้องสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลที่เด็กควรปกปิดไว้ ไม่ควรบอกให้คู่สนทนารู้ เช่น นามสกุล ที่อยู่ หรือรหัสผ่านที่เป็นความลับกับผู้ที่ไม่เคยรู้จัก หรือเริ่มรู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต
6. ควรวางคอมพิวเตอร์ที่เด็กใช้ไว้ในที่เปิดเผย เช่น ห้องนั่งเล่น มากกว่าที่จะวางไว้ในห้องนอน หรือห้องส่วนตัว กลุ่มเยาวชน
7. ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อโรงเรียน ที่ทำงาน หรือเบอร์ที่ทำงาน ของผู้ปกครองให้แก่บุคคลอื่น ที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต
8. แจ้งให้ผู้ปกครองทราบโดยทันทีที่พบข้อมูล หรือรูปภาพใด ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่หยาบคายไม่เหมาะสม
9. ไม่ไปพบบุคลใดก็ตามที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
10. ไม่ส่งรูปหรือสิ่งของใด ๆ ให้แก่ผู้อื่นที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยมิได้ขออนุญาติจากผู้ปกครองก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น